โปรตีน สารสำคัญที่ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีกำลังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่รู้ไหมว่า หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง
1. สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
เมื่อร่างกายได้ร้บปริมาณโปรตีนไม่เพียงพอ ร่างกายจะดึงเอาโปรตีนที่อยู่ในกล้ามเนื้อลาย หรือ ส่วนที่เรียกว่า Skeletal Muscles มาใช้แทน เมื่อขาดโปรตีนเป็นระยะเวลานาน ๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ อาจทำให้รู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะผู้สูงวัย หรือใครที่เป็นสายฟิต เป็นนักเล่นกล้าม หรือเหล่าเพาะกล้ามทั้งหลาย ก็จะเสียมวลกล้ามเนื้อโต ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ไม่คุ้มค่ากับการทุ่มเท และการเสียเวลาออกกำลังกายมาอย่างหนัก
2. แผลหายช้า
เนื่องจากโปรตีนช่วยซ่อมแซมในส่วนที่สึกหรอภายในร่างกายได้ เมื่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อม หรือเกิดแผล แต่ขาดโปรตีน หรือมีโปรตีนไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซม ฟื้นฟู และบำรุงกล้ามเนื้อ ทำให้แผลมานช้า ติดเชื้อได้ง่าย ส่งผลให้อาการบาดเจ็บและแผลหายช้ากว่าปกติ
3. มีภาวะบวมน้ำ (Edema)
การบวมน้ำ คือ การที่ผิวหนังมีอาการบวม เกิดจากเนื้อเยื่อภายในร่างกายมีของเหลวสะสมมากเกินไป ซึ่งมักจะพบในบริเวณท้อง มือ ขา และเท้า ซึ่งผู้ที่มีขาดโปรตีนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะบวมน้ำได้ เนื่องจากปริมาณที่ลดลงของโปรตีนอัลบูมิน ที่ทำหน้าที่ป้องกันการสะสมของเหลวในเนื้อเยื่อร่างกาย ซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถพบได้ในกระแสเลือด แต่อย่างไรก็ตาม อาการบวมน้ำอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงควรพบแพทย์เพื่อให้ทำการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง
4. อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
โปรตีน เป็นสารประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน ที่เป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย หากขาดโปรตีน หรือร่างกายมีโปรตีนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ไม่ทั่วถึง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยง่าย บางรายอาจมีอาการรุนแรง หายใจไม่อิ่ม หรือเกิดภาวะโลหิตจางได้
5. ป่วยง่าย ไม่สบายบ่อย
โปรตีนเป็นส่วนหนึ่งของแอนติบอดี เนื่องจากโปรตีนช่วยปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารพิษต่าง ๆ นอกจากนี้ โปรตีนยังช่วยซ่อมแซมและบำรุงส่วนที่สึกหรอ ดังนั้น หากขาดโปรตีนส่วนที่ช่วยเป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้ง่าย
6. ผมร่วง เล็บเปราะ ผิวหนังแห้งลอก
โปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญของอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เมื่อโปรตีนไม่เพียงพอ หรือร่างกายขาดโปรตีน ย่อมส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดสารอาหารไปด้วย สังเกตได้จาก เส้นผม เล็บ และผิวหนัง เช่น ผมร่วง ผมขาดง่าย สีผมอ่อนลง เล็บเปราะ เล็บมีลักษณะเป็นคลื่น หรือมีจุดสีขึ้นบนผิวเล็บ ผิวหนังแห้ง ลอกเป็นแผ่น หรือผิวลอกขุย
7.หิวบ่อย
โปรตีน เป็น 1 ใน 3 ของแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย เมื่อร่างกายขาดโปรตีน ระบบกลไกในร่างกายจะกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหารมากกว่าปกติ หรือมีอาการหิวบ่อย ซึ่งในงานวิจัยก็ได้พบว่า ผู้ที่มีความต้องการอาหารมากขึ้นกว่าปกติ อาจมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดโปรตีน หรือมีโปรตีนไม่เพียงพอที่ร่างกายต้องการใช้งาน