เลือกใช้เขียงแบบไหนดี ระหว่างเขียงไม้กับเขียงพลาสติก เขียงชนิดใดดีที่สุด 

K

“เขียง” คือ อุปกรณ์เครื่องมือในครัวที่มีแทบทุกบ้าน เพราะเขียงถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเตรียมอาหาร โดยการใช้รองวัตถุดิบเพื่อหั่น ตัด และสับ ซึ่งปัจจุบันมีเขียงให้เลือกใช้หลายแบบ หลายสี ไม่ว่าจะเป็นเขียงไม้ หรือเขียงพลาสติก ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำเขียงก็แตกต่างกัน แล้วเคยสงสัยไหมว่า เราควรเลือกใช้เขียงแบบไหนปลอดภัยกว่ากัน ระหว่าง เขียงไม้ หรือ เขียงพลาสติก วันนี้ naturalprideblog ได้นำข้อมูลของเขียงทั้ง 2 แบบ มาให้เปรียบเทียบ เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาเลือกใช้เขียง เพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาวกันค่ะ

raw meat baking pan with vegetables

รู้ไหมว่า ไม่ล้างเขียง เสี่ยงโรค ได้นะ

การใช้เขียงที่ไม่สะอาด หรือใช้แบบไม่ถูกสุขลักษณะ เสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย จากการปนเปื้อนเชื้อโรคที่สะสมอยู่บนเขียงที่ไม่ได้ทำความสะอาด หรือ เขียงที่ทำความสะอาดไม่ดีพอ ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อ จนเจ็บป่วยด้วยอาการต่าง ๆ 

เชื้อที่อาจเกิดจากการใช้เขียงที่ไม่ถูกสุขลักษณะ 

  • Aflatoxins ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง 
  • E-Coli ก่อให้เกิดอาการท้องร่วง 
  • Listeria monocytogenes ก่อให้เกิดโรคโลหิตเป็นพิษ และ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 
  • Salmonella ก่อให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน 

ใช้เขียงอย่างไรไม่ให้เสี่ยงโรค

  • ล้างทุกครั้งก่อนใช้และหลังจากใช้เขียง 
  • ควรแยกเขียงตามประเภทวัตุดิบ ไม่ควรใช้เขียงเดียวกันในการหั่นผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ 
  • อย่าให้เกิดรอยบนเนื้อเขียง เพราะเสี่ยงต่อการสะสมเชื้อโรค
  • เก็บเขียงในที่แห้ง เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา 
  • นำเขียงตากแดด อย่างน้อย 1 – 2 ครั้ง / สัปดาห์ 

เขียงไม้ กับ เขียงพลาสติก แบบไหนดีกว่ากัน 

raw meat baking pan with vegetables

1. เขียงไม้ 

เขียงไม้ ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้มะขาม ไม้จามจุรี หรือ ไม้ยางพารา ซึ่งข้อดีของเขียงไม้ คือ ใช้งานได้ยาวนาน แข็งแรงทนทาน หน้าเขียงไม่ลื่น เหมาะกับการหั่นวัตถุดิบชิ้นใหญ่ ๆ มีความปลอดภัยต่อร่างกาย หากวัสดุถลอก หลุดลอก ปนเปื้อนอาหาร แต่ข้อเสียของการใช้เขียงไม้ คือ มีน้ำหนักมาก หยิบจับเคลื่อนย้ายได้ยาก ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บมาก สึกกร่อนง่าย และสะสมความชื้น ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย อีกทั้งตัวเนื้อไม้จะมีรูพรุนค่อนข้างมาก ทำความสะอาดได้ยาก ดูดซับกลิ่น เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ หากดูแลรักษาไม่ถูกวิธี 

การเลือกเขียงไม้ ควรเลือกเขียงที่ทำจากไม้มะขาม เพราะไม้มะขามเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง เหนียว ทนทาน ไม่เพิ่มกลิ่นเหม็นให้กับอาหาร 

2. เขียงพลาสติก 

เขียงพลาสติก มีน้ำหนักเบา ทนทาน ใช้งานได้นาน ทำความสะอาดง่าย ไม่สะสมความชื้น ยากต่อการเกิดเชื้อรา สะดวกต่อการเก็บ หาซื้อง่าย และราคาถูก จึงเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก แต่ข้อเสียของเขียงพลาสติกก็ใช่ว่าจะไม่มี เขียงพลาสติกไม่ทนทานต่อความร้อน เป็นรอยได้ง่าย และเขียงพลาสติกส่วนใหญ่จะมีรูพรุนขนาดเล็ก ทำให้กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ง่าย เช่น เชื้อแบคทีเรียอีโคไล , Listeria monocytogenes และ Salmonella ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะปนเปื้อนอาหาร เมื่อนำไปใช้หั่นผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ โดยไม่ผ่านการทำความสะอาดที่ถูกวิธี 

เขียงพลาสติกบางชนิดอาจมีการปนเปื้อนสารเคมี เช่น สาร Bisphenol A หรือ BPA เป็นสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ รวมไปถึงการพัฒนาของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ เขียงพลาสติกสามารถเกิดรอยถลอกได้ง่าย จากการหั่นอาหารแข็ง ๆ สับเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่การซอยผักก็ตาม รอยถลอกเหล่านั้นจะทำให้เกิดเศษพลาสติก โดยเฉพาะไมโครพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีน ปนเปื้อนอาหารจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ 

การเลือกเขียงพลาสติก ควรเลือกเขียงพลาสติกที่ผลิตจากคุณภาพดี มีมาตรฐาน น้ำหนักเหมาะต่อการใช้งาน พื้นผิวเรียบ โดยอาจเลือกเขียงที่ทำจากพลาสติก ชนิด PP Sheet (Polypropylene) เพราะเป็นพลาสติกที่เบาที่สุด ทรงตัวได้ดี มีความเหนียว ทำความสะอาดง่าย ทนต่อแรงดึงและแรงกระแทก  

เห็นได้ว่าเขียงทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป หากถามว่าเลือกใช้เขียงแบบไหนดีกว่ากัน ก็ต้องขึ้นอยู่กับการใช้งานและความสะดวกของผู้ใช้เป็นหลักค่ะ