เล่นน้ำหน้าฝน ระวังโดนพิษแมงกะพรุน อันตรายถึงชีวิต 

K

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นอันตรายหน้าฝน คือ การเล่นน้ำในฤดูฝน เนื่องจากเสี่ยงต่อการสัมผัสโดนพิษแมงกะพรุนได้มากกว่าปกติ เพราะฤดูฝนเป็นช่วงที่แมงกะพรุนชุกชุมเป็นพิเศษ จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการเล่นน้ำ หรือควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำทะเลในฤดูฝน เพราะถ้าถูกพิษแมงกะพรุน อาการรุนแรงอาจทำให้จมน้ำตายได้ และต่อให้พบซากแมงกะพรุนตายแล้วตามชายหาด ก็ไม่ควรไปสัมผัสหรือนำมาเล่น เพราะเสี่ยงต่อการสัมผัสพิษที่ยังหลงเหลืออยู่ อาจทำให้เมื่อโดนแมงกะพรุน คันหรือแสบร้อน เพราะแพ้พิษกะพรุนได้ แล้วถ้าเผลอโดนแมงกะพรุนรักษาอย่างไร ก่อนที่จะไปรู้ถึงวิธีแก้พิษแมงกะพรุน เรามาทำความเข้าใจถึงพิษแมงกะพรุนอันตรายแค่ไหนกันก่อน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจว่าทำไมจึงควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหน้าฝน 

jellyfish floating at sea near the surface

แมงกะพรุนที่พบในไทยได้บ่อย คือ แมงกะพรุนไฟ ส่วนแมงกะพรุนที่ทำให้เสียชีวิตได้ คือ แมงกะพรุนกล่อง ที่กระแสน้ำพัดมาจากออสเตรเลีย แม้ว่าจะไม่ได้บ่อยนัก แต่ก็เกิดเหตุการณ์นักท่องเที่ยวโดนพิษแมงกะพรุนกล่องและเสียชีวิตมาแล้วหลายรายด้วยกัน โดยพิษของแมงกะพรุนทั่วไปจะอยู่ในหนวดที่กระเปาะ ซึ่งจะมีเข็มพิษจำนวนมาก เราอาจไม่เห็นตัวมันในขณะที่เล่นน้ำ แต่แค่หนวดแมงกะพรุนที่หลุดมาแล้วสัมผัสโดนตัวเรา ก็จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังได้ทันที 

แมงกะพรุนมีหลายชนิดด้วยกัน ทั้งแมงกะพรุนที่กินได้ ที่เรามักจะคุ้นเคยและเห็นในเมนูอาหารต่าง ๆ ซึ่งแมงกะพรุนที่กินได้ คือ แมงกะพรุนจาน หรือ แมงกะพรุนหนัง ในขณะที่แมงกะพรุนมีพิษ ตัวจะมีสีคล้ำ ๆ แดง ๆ คือ แมงกะพรุนไฟ และแมงกะพรุนกล่อง ไม่ควรนำมากิน หรือสัมผัสเล่นเด็ดขาด แต่ควรอยู่ให้ห่างไกลที่สุด เพราะอันตรายถึงตายได้เลย 

พิษของแมงกะพรุนแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่พิษของแมงกะพรุนจะส่งผลต่อผิวหนัง รู้สึกปวดแสบปวดร้อน และมีอาการผิวหนังอักเสบตามมา แต่แมงกะพรุนบางชนิดมีพิษรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะ แมงกะพรุนกล่อง หรือ Box Jellyfish

Mom shows her son a jellyfish standing on the sea coast

เมื่อโดนแมงกะพรุนรักษาอย่างไรดี

หลายคนที่ไม่รู้ว่าโดนแมงกะพรุนทายาอะไรดี ซึ่งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังจากที่สัมผัสแมงกะพรุน 

  • เมื่อรู้สึกว่าสัมผัสโดนแมงกะพรุน หรือไม่แน่ใจว่าได้สัมผัสแมงกะพรุนหรือไม่ ควรรีบขึ้นจากน้ำทันที อย่าฝืนเล่นน้ำต่อ เพราะอาจแพ้พิษแมงกะพรุนจนทำให้จมน้ำได้ 
  • หากต้องการเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่อาจถูกแมงกะพรุนเล่นงานในน้ำ ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ควรทำการสังเกต และมองรอบ ๆ บริเวณผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ว่ามีแมงกะพรุนอยู่หรือไม่ เพราะอาจทำให้เราถูกแมงกะพรุนไปด้วยอีกคน 
  • ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณแผลที่โดนพิษแมงกะพรุนโดยเร็วที่สุด หรือประคบทิ้งไว้ประมาณ 30 วินาที จะช่วยลดพิษที่บริเวณผิวหนังที่สัมผัสแมงกะพรุนได้ทุกชนิด เพราะคุณสมบัติของน้ำส้มสายชู ช่วยยับยั้งไม่ให้เข็มพิษแมงกะพรุนแตกเพิ่มขึ้น แต่ห้ามถู หรือใช้มือเปล่าสัมผัสบริเวณแผลผู้ป่วยเด็ดขาด เพราะอาจยังมีเข็มพิษหลงเหลืออยู่ และหากยังสีหนวดติดอยู่ ให้ใช้ที่คีบเอาออกด้วยความระมัดระวัง
  • กรณีที่ไม่มีน้ำส้มสายชู ให้ล้างแผลผู้ป่วยด้วยน้ำทะเลเท่านั้น ห้ามใช้น้ำอื่นล้างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่า น้ำจืด น้ำมัน หรือน้ำปัสสาวะ (ตามความเชื่อของบางคน) เพราะอาจไม่สะอาดพอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจยิ่งเพิ่มความรุนแรงต่อผู้ป่วยได้
  • แม้ว่าผู้ที่ได้รับพิษแมงกะพรุนไม่มีอาการรุนแรง แต่ควรสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะพิษแมงกะพรุนบางชนิด อาจไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่จะมีอาการรุนแรงในภายหลัง เช่น Irukandji เป็นต้น 
  • หากผู้ที่ได้รับพิษแมงกะพรุน มีอาการรุนแรงจนหมดสติ เช่น หายใจลำบาก มีอาการหอบ หมดสติ หรือหยุดหายใจ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด 

อย่างไรก็ตาม หากไม่รู้จักชนิดแมงกะพรุนดีพอ หรือไม่แน่ใจ ไม่ควรสัมผัสแมงกะพรุนที่พบในทะเล ไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนที่มีชีวิตหรือแมงกะพรุนที่ตายแล้วก็ตาม เพราะพิษของแมงกะพรุนอาจทำให้เราแพ้รุนแรงและเสียชีวิตได้