โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ในยุคโควิด-19 ระบาด 

K

ไข้หวัดใหญ่กับโควิด เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน โดยสาเหตุของโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถติดต่อผ่านระหว่างคนสู่คน โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน และอาจเกิดภาวะปอดอักเสบจนทำให้เสียชีวิตได้

และเนื่องจากเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหายใจทั้งคู่ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาดในช่วงโควิดแบบนี้ด้วยแล้ว ยิ่งอาจเสริมทัพส่งผลให้มีอาการรุนแรง และมีภาวะแทรกซ้อนได้ เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่คือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และเป็นโรคติดเชื้อซ้ำๆ ซึ่งโรคนี้ได้มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง และในการระบาดแต่ละครั้งก็ส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตนับล้านคน!!

ทำความรู้จักโรคไข้หวัดใหญ่กันก่อน

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่ติดจากเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน จึงแพร่เชื้อได้ง่าย โดยจากคนสู่คน และอาจก่อโรคในสัตว์ได้หลายชนิด เช่น นก หมู ม้า ฯลฯ การติดต่อโรคด้วยระบบทางเดินหายใจส่วนบน อย่างการไอหรือจามรดโดยตรง หรือละอองฝอยในระยะใกล้ไม่เกิน 1 เมตร หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ จากวัตถุต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก จมูก และตา 

 

ไข้หวัดใหญ่ในคน มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ก่อให้เกิดการระบาดทั่วโลก 

ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีมานานแล้ว แต่ด้วยเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของตัวเองได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคนี้มาแล้ว ก็สามารถกลับมาติดซ้ำได้อีก แต่อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง 

 

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ชนิด A H1N1 ที่มีการเปลี่ยนแปลงจีโนมตัวเดิมไปมาก จนภูมิในร่างกายไม่สามารถต้านได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดในวงกว้างไปทั่วโลก ได้อย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ยังคงมีความรุนแรงต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง  ง

ไข้หวัดใหญ่อาการเป็นอย่างไร 

มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ คัดจมูกหรือมีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หายใจหอบเหนื่อย หากมีภาวะปอดอักเสบ จะทำให้มีอาการรุนแรงจนอาจส่งผลต่อการเสียชีวิตได้ 

 

โรคไข้หวัดใหญ่มีอาการคล้ายกับโรคโควิด-19 จึงอาจทำให้ไม่สามารถแยกโรคได้ในเบื้องต้น จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสมกับโรค

 

การดูแลรักษาไข้หวัดใหญ่

กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรง และไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง การรักษาไข้หวัดใหญ่ก็จะเป็นไปตามอาการ โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและจ่ายสั่งยา เช่น ยาแก้ไข้ ยาแก้ไอ วิตามิน เป็นต้น และกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ถ้าในกรณีเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วม และเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แพทย์ก็จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ซึ่งอาจจะต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ภาวะของปอดบวม 

 

ผู้ป่วยที่พักรักษาดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน ทานยาตามที่แพทย์สั่ง ใช้น้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดตัวได้ แต่ห้ามใช้น้ำเย็นเช็ดตัวเด็ดขาด ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำผลไม้ แต่งดน้ำเย็นและแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามอดนอน และทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกัน และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หากได้รับยาและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี หลังจากป่วยไข้หวัดใหญ่เพียงไม่กี่วัน ก็จะทำให้ผู้ป่วยหายได้เองและภายในเวลาอันรวดเร็ว ห

การป้องกันไข้หวัดใหญ่

เนื่องจากสามารถเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แทรกซ้อนกับโรคโควิด-19 ได้ และจะยิ่งส่งผลให้มีอาการรุนแรง จนอาจเสียชีวิตได้ จึงควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อเป็นป้องกันการติดเชื้อ

 

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ และ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ และทุกคนควรมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ที่อาจรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตวายเรื้อรัง โรคหอบหืด ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ที่มีภาวะอ้วน และ ผู้ใกล้ชิดหรือดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น และควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการฉีดวัคซีนในช่วงที่มักจะมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และ ฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) 

กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่

ซึ่งเราได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เราจะมาแบ่งกลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนี้ 

  • กลุ่มเสี่ยงที่พบอัตราป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากที่สุด คือ กลุ่มเด็กเล็ก และ กลุ่มเด็กวัยเรียน มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อยู่ในช่วงวัยเด็กจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่มีอาการรุนแรง ภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ไซนัสอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น 

 

  • กลุ่มเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่พบได้สูงที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรไต โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น 

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตัวเองตลอดเวลา ดังนั้นวัคซีนจึงมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทุกปี ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงก็ควรรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีเพื่อให้ได้ผลดีต่อการป้องกันโรค เช่นกัน