ช่วงฤดูฝนแบบนี้ ไม่เพียงแค่สายฝนเท่านั้นที่กระหน่ำเท แต่ยังแฝงมาด้วยเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ทั้งโรคในมนุษย์และโรคสัตว์เลี้ยงที่มักมาพร้อมหน้าฝน แล้วโรคหน้าฝนอะไรบ้างที่เราควรระวัง มีสาเหตุเกิดจากอะไร รู้ไว้ก่อนจะได้ป้องกันหรือให้การรักษาเจ้านายสี่ขาสุดที่รักได้ทันเวลา
ช่วงที่ฝนตกบ่อย อากาศเย็นชื้นแบบนี้ ทำให้หลายคนมีอาการคิดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย แม้แต่สัตว์เลี้ยงแสนรักของเราเองก็ไม่ต่างกัน โดยโรคระบบทางเดินหายใจในสัตว์เกิดจากการได้รับเชื้อจากสัตว์ที่มีอาการป่วยอยู่ก่อนแล้ว ผ่านช่องทางอากาศ และสารคัดหลั่ง ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย เหมือนการติดหวัดทั่วไป เช่น การอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน การใช้ภาชนะร่วมกัน ถ้วยอาหาร ถ้วยน้ำ หรือแม้แต่ละอองฝอยสารคัดหลั่งในอากาศ
อาการของโรค : ขี้ตาเปียก จาม มีน้ำมูก เซื่องซึม เบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลง หรือไม่ยอมทานอาหารเลย หายใจแรง หอบ ไม่ร่าเริง
การป้องกัน : ควรแยกสัตว์ที่ป่วยออกจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ทันที รักษาความสะอาดบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอาศัยอยู่เสมอ ห้ามให้มีความอับชื้นเด็ดขาด เพราะเป็นอุณหภูมิที่เชื้อโรคแพร่พันธ์ได้ดี
โรคฉี่หนู โรคหน้าฝนที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว และจะพบการแพร่ระบาดโรคฉี่หนูได้มากที่สุดในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมักมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ซึ่งโรคฉี่หนูหรือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะ อย่าง หนู สุนัข ม้า สุกร เป็นต้น ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักจะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ แอ่งน้ำขัง น้ำท่วม ในดิน หรือโคลน หากเดินลุยน้ำหรือแช่ในน้ำขังโดยมีบาดแผลก็ทำให้ได้รับเชื้อโรคผ่านทางผิวหนังจากรอยแผลหรือรอยขีดข่วนได้ หรืออาจได้รับเชื้อผ่านทางปาก จมูก และเยื่อบุตาได้ด้วยเช่นกัน
อาการ : เซื่องซึม ไม่ทานอาหาร มีไข้สูง อาจปัสสาวะเป็นเลือด
การป้องกัน : ฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยง และช่วงหน้าฝนหรือวันที่ฝนตก มีน้ำท่วมขัง อย่าปล่อยให้สัตว์เลี้ยงไปลุยหรือเล่นน้ำ และคอยทำความสะอาดที่นอน อย่าปล่อยให้ที่นอนเปียกในช่วงหน้าฝน รวมถึงบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่อาศัย
โรคผิวหนังเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ช่วงหน้าฝน อากาศชื้น ก็เป็นอีกสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงมีอาการโรคผิวหนังตามมาได้ เนื่องจากความอับชื้นมักทำให้เกิดเชื้อรา หรือโรคผิวหนังที่อาจเกิดจากตัวไรและปรสิต
อาการ : สัตว์เลี้ยงมีอาการขนร่วง โดยจะเริ่มจากวงเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายวงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีอาการคัน เกาอยู่ตลอดเวลา และเลียขน ยิ่งทำให้เกิดแผล หรือก่อให้เกิดการลุกลามของเชื้อรามากขึ้น
การป้องกัน : ควรหมั่นทำความสะอาด อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง และเช็ดตัวหรือเป่าขนให้แห้งสนิท เพราะความอับชื้น ยิ่งทำให้เกิดการกระจายตัวของเชื้อราได้มากขึ้น
โรคพยาธิเม็ดเลือด คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือด ซึ่งพยาธิที่อันตรายมากต่อสัตว์เลี้ยงและพบได้บ่อย คือ พยาธิชนิด E.Canis และ B.Canis ซึ่งเป็นเชื้อพยาธิที่อันตรายที่สุดในกลุ่มพยาธิในเม็ดเลือด โดยมีเห็บเป็นพาหะ โดยเฉพาะเห็บแข็งสีน้ำตาล
อาการ : อาการโรคพยาธิในเม็ดเลือดจะสังเกตได้ยากมาก กว่าจะแสดงอาการของโรค ก็ค่อนข้างเป็นอาการที่ไม่น่าไว้วางใจ เช่น ซึม มีไข้สูง สัตว์เลี้ยงบางตัวอาจมีอาการรุนแรงกระทัน เช่น ภาวะตับอักเสบ ไตอักเสบ โลหิตจาง และอาจเสียชีวิตหลังจากแสดงอาการไม่นาน
การป้องกัน : หมั่นกำจัดเห็บบนตัวสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ และทำความสะอาดบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอาศัย และรอบ ๆ บริเวณบ้าน และพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อได้ตรวจเช็ดค่าเลือดที่เราไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากภายนอก เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับสัตว์เลี้ยงหากตรวจพบความผิดปกติได้ทันเวลา
สัตว์เลี้ยงสามารถเป็นโรคนี้ได้ทุกวัย โรคพยาธิหนอนหัวใจเกิดจากการได้รับเชื้อจากยุงที่มีตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจกัด ทำให้ได้รับการติดเชื้อพยาธิจากยุง และตัวอ่อนพยาธิจะเจริญเติบโตในตัวสัตว์เลี้ยง จนกลายเป็นตัวแก่และไปอาศัยอยู่ในตามห้องหัวใจและหลอดเลือดที่ไปยังปอด และเมื่อจะสืบพันธุ์ก็จะผลิตตัวอ่อนออกมาอยู่ในกระแสเลือด นอกจากนี้ พยาธิหนอนหัวใจยังสามารติดต่อผ่านจากแม่สู่ลูกได้ด้วย
อาการ : เมื่อมีพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมากขึ้น ก็จะไปอุดตันตามห้องหัวใจและหลอดเลือด จนทำให้เกิดอาการปอดอักเสบและหัวใจล้มเหลวได้
การป้องกัน : ตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ หยอดยาเห็บสัตว์เลี้ยงสม่ำเสมอ ป้องกันอย่าให้มียุงบริเวณรอบบ้าน เช่น การใช้สมุนไพรไล่ยุง ทำลายแหล่งน้ำขังบริเวณบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันยุงวางไข่ จัดบ้านอย่าให้รกจนกลายเป็นที่แพร่พันธุ์ยุง เพราะยุงเป็นพาหะอันตรายนำโรคมาสู่ทุกชีวิตในบ้าน ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง
หน้าฝนแบบนี้ ต้องคอยสังเกตอาการสัตว์เลี้ยง และรักษาความสะอาด หากพบสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปพบสัตว์แพทย์ เพื่อป้องกันการสูญเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักก่อนเวลาอันควรค่ะ