กัฏฐหาริชาดก ชาดกว่าด้วย การถือยศชั้นวรรณะ

K

นิทานชาดกพระพุทธเจ้า มักจะเป็นนิทานชาดกสั้น ๆ พร้อมข้อคิดคติธรรม โดยเรื่องราวในนิทานจะเกี่ยวข้องกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า และการเล่านั้นจะคล้ายนิทาน เหมาะแก่การนำไปเล่าหรือเขียนเป็นหนังสือให้อ่านสำหรับทุกเพศทุกวัย ซึ่งบทความนี้เราก็ได้นำนิทานชาดก ว่าด้วยการถือชั้นวรรณะ มาให้อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน และได้นำข้อคิดจากชาดกเรื่องนี้ไปปรับใช้เอง หรือสอนบุตรหลานได้เช่นกัน 

นิทานชาดกคืออะไร 

นิทานชาดกคืออะไร

นิทานชาดก คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตของพระโคตมพุทธเจ้า ในครั้งสมัยพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ได้ทรงนำมาเล่าแก่พระสงฆ์สาวกฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรม โดยนิทานชาดกนั้นมีหลายร้อยเรื่อง ทั้งทรงเคยเกิดเป็นมนุษย์ และเป็นสัตว์ต่าง ๆ สลับกันไปในแต่ละชาติภพของพุทธองค์ 

กัฏฐหาริชาดก ชาดกว่าด้วย การถือชั้นวรรณะจัด 

สาเหตุที่ตรัสชาดก 

ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับ ณ เชตวันมหาวิหาร ได้ทรงทราบว่าพระนางวาสภขัตติยา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามหานามแห่งศากยวงศ์ ได้ถูกถอดตำแหน่งพระอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมกับพระราชโอรสของพระนาง แต่ยังคงได้อาศัยอยู่ในพระราชวังดังเดิม เนื่องจากพระเจ้าปเสนทิโกศลยังทรงรักอาลัยอยู่มาก 

ด้วยความเมตตาอันเปี่ยมล้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กรุณาใคร่จะอนุเคราะห์พระนางกับพระราชโอรสผู้ไร้ความผิดใด จึงได้ทรงตรัสถามเรื่องนี้กับพระเจ้าปเสนทิโกศล อันมีใจความว่าดังนี้ 

พระพุทธเจ้า “นางมาที่เมืองนี้ เพื่อมาหาใคร และใครไปขอให้มา หรือนางมาเอง” 

พระเจ้าปเสนทิโกศล “ ข้าพระพุทธเจ้าไปสู่ขอนางมาเป็นพระมเหสีเองพระเจ้าข้า” 

พระพุทธเจ้า “ ดูก่อน มหาบพิตร นางเป็นธิดาของพระราชา เดินทางมาสู่พระราชาเหมือนกัน มีโอรสโดยอาศัยพระราชา ไฉนพระราชโอรสนั้นจึงไม่ควรได้เป็นเจ้าของราชสมบัติของพระชนกเล่า อย่าว่าแต่ครั้งนี้เลย แม้แต่โบราณกาล พระราชามีโอรสกับหญิงเก็บฟืนที่อยู่ร่วมกันเพียงครู่เดียว พระองค์ยังทรงยอมมอบราชสมบัติแก่พระโอรสนั้นได้” 

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเล่าถึง กัฏฐหาริชาดก ซึ่งมีเนื้อความดังนี้ 

เนื้อหาชาดก 

เนื้อหาชาดก กัฏฐหาริชาดก

วันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตแห่งนครพาราณสี ได้เสด็จประพาสพระราชอุทยานพร้อมด้วยหมู่ข้าราชบริพาร แล้วได้ยินเสียงสตรีขับกล่อมเพลงดังมาจากป่าใกล้ ๆ ทรงเกิดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ จึงได้เสด็จไปหาและอยู่ร่วมกับนางผู้นั้น จนกระทั่งต่อมาหญิงสาวได้ตั้งครรภ์จึงได้กราบทูลให้พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ พระองค์จึงได้พระราชทานพระธำมรงค์วงหนึ่งแก่นาง พร้อมตรัสว่า “ หากบุตรในครรภ์เป็นหญิง ให้นำธำมรงค์ไปขายเพื่อเลี้ยงชีพ แต่หากบุตรเป็นชายให้พาไปหาพระองค์” 

เมื่อเวลาผ่านไป นางได้ให้กำเนิดบุตรชาย และเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ จนวันหนึ่งเด็กน้อยได้ถามไถ่ถึงบิดา นางจึงได้เล่าความจริงให้ผู้เป็นบุตรรับรู้ เด็กน้อยจึงได้รบเร้ามารดาให้พาตนเข้าวังเพื่อไปพบผู้เป็นบิดา นางก็ได้รับคำและพาไปเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต  

เมื่อได้เข้าพบพระเจ้าพรหมทัต นางได้กราบทูลว่ากุมารน้อยคือโอรสของพระองค์ แต่พระเจ้าพรหมทัตปฏิเสธต่อหน้าหมู่อำมาตย์ข้าราชบริพารทั้งหลาย นางจึงได้นำพระธำมรงค์ยกขึ้นถวายตามคำสั่งกำชับที่เคยให้ไว้ แต่พระองค์ก็ยังทรงปฏิเสธด้วยความละอายต่อข้าหลวงทั้งหลาย ว่าพระองค์เป็นถึงกษัตริย์ แต่กลับมีบุตรกับหญิงเก็บฟืน ทำให้นางเสียใจและน้อยใจยิ่งนัก จึงได้กล่าวคำสัตยาธิษฐานต่อหน้าพระเจ้าพรหมทัตว่า “หากกุมารน้อยนี้เป็นโอรสของพระองค์ ขอให้จงลอยอยู่ในอากาศ แต่หากว่ามิใช่แล้วไซร้ ขอให้เด็กตกลงมาตายเสียเถิด” กล่าวจบนางก็จับบุตรชายของตนโยนขึ้นไปบนอากาศทันที ท่ามกลางความตระหนกตกตะลึงของทุกคน ณ ที่แห่งนั้น แต่กลับปรากฏกุมารน้อยนั่งขัดสมาธิลอยอยู่บนอากาศ ไม่ได้ตกลงสู่พื้นให้ได้รับอันตรายแต่อย่างใด อีกทั้งกุมารยังได้กล่าวอีกว่า “แม้คนเหล่าอื่นพระองค์ทรงชุบเลี้ยงได้ ไฉนไม่ทรงชุบเลี้ยงโอรสของพระองค์เองเล่าพระเจ้าข้า”  

พระเจ้าพรหมทัตได้สดับเช่นนั้นก็ตื้นตันพระทัย ทรงยื่นพระกรขึ้นรับกุมารน้อยและตรัสว่า “ลงมาเถิดลูกเอ๋ย พ่อจะเลี้ยงเจ้าเอง” พระกุมารจึงลงสู่พระหัตถ์ของพระบรมราชชนกแล้วประทับนั่งอยู่พระเพลา จากนั้นพระเจ้าพรหมทัตได้พระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระราชโอรส และทรงแต่งตั้งหญิงเก็บฟืนผู้เป็นมารดาของพระราชโอรสเป็นพระอัครมเหสี และหลังจากที่พระเจ้าพรหมทัตได้เสด็จสวรรคต กุมารน้อยผู้เป็นพระราชโอรสได้ครองราชสมบัติสืบแทน ในพระนาม “พระเจ้ากัฏฐวาหนะ”

ประชุมชาดก 

หญิงเก็บฟืน : ได้มาเป็นพระนางสิริมหามายา 

กุมารน้อย หรือ พระเจ้ากัฏฐวาหนะ : ได้มาเป็นโคตมพุทธเจ้า 

ข้อคิดจากชาดกเรื่องนี้ 

  1. ทุกคนควรหมั่นทำบุญให้ทาน ประพฤติปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ เพราะเมื่อถึงคราวบุญให้ผลจะได้เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่อง ชีวิตไม่ขึ้น ๆ ลง ๆ เช่น หญิงเก็บฟืน 
  2. ควรเป็นผู้มีสัจจะ เกิดเป็นคนก็ต้องรักษาความสัตย์ รักษาและปฏิบัติตามคำพูดของตน อันแสดงถึงการมีความซื่อสัตย์อันเป็นสิ่งที่สัตว์ประเสริฐพึงมี