หน้าฝนที่อากาศชื้น เปียก แฉะ แม้ว่าสายฝนที่กระหน่ำลงมาจะช่วยดับร้อน แต่ก็มีอันตรายแอบแฝงที่มาในรูปแบบของโรคภัยไข้เจ็บ และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในฤดูฝนเพิ่มขึ้นทุกปี กรมควบคุมโรคก็ได้มีการประกาศเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังภัยสุขภาพ โดยเฉพาะโรคติดต่อหน้าฝน โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้ดังนี้
- โรคที่เกิดจากยุงลาย
- โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง และอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นชัก และช็อกได้
- โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ทั้งยุงลายบ้าน และ ยุงลายสวน มีอาการของโรคคล้ายกับไข้เลือดออก แต่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่ค่อยพบอาการรุนแรงจนถึงชักหรือช็อกในผู้ป่วย สามารถพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ทุกกลุ่มอายุ
ทั้ง 2 โรคนี้ สามารถป้องกันได้ ด้วยการไม่ให้ถูกยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
- โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคที่พบได้เกือบทั้งปี เพราะประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้น แต่จะระบาดและติดต่อกันมากในช่วงหน้าฝน แม้ว่าจะเป็นกลุ่มโรคที่พบในทุกกลุ่มอายุ แต่เด็กเล็กและผู้สูงอายุ รวมถึงผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นจำเป็นมากที่ผู้ปกครองและลูกหลานจะต้องรู้วิธีป้องกันและการดูแลรักษาไข้หวัดใหญ่ เพื่อปกป้องคนที่รัก
- โรคปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อกันได้ด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่งผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองฝอยน้ำลายจากการไอ จาม รดใส่ หรือสภาวะลอยอยู่ในอากาศ ป้องกันด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้มีประสิทธิภาพ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ร่วมสถานที่เดียวกับผู้ป่วย หรือต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ
- โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลว และอาจมีไข้ ปวดศีรษะร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยอาจมีการทานยาแก้ปวด หากรู้สึกปวดมาก และดื่มน้ำให้มากๆ และดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ
- โรคอุจจาระร่วง หรือ Diarrhoeal Diseases เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด อาหารที่มีเชื้อโปรโตซัวหรือพยาธิในลำไส้ปนเปื้อน โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนบ่อย ถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป รับประทานอาหารไม่ได้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว กระหายน้ำมากกว่าปกติ หากมีอาการมากกว่า 2 วัน ร่วมกับมีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน และเป็นโรคเรื้อรัง
- โรคอหิวาตกโรค คือ โรคท้องร่วงรุนรง ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ โคเลอรี ( Vibrio Cholerae ) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงและระบาดรวดเร็ว ติดเชื้อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อชนิดนี้อยู่ การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ผู้ป่วยจะมีการถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาเจียน ทำให้ร่างกายขาดน้ำและอาจช็อคได้ หากรักษาไม่ทัน อาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง โรคอหิวาตกโรคสามารถพบได้ทุกที่ โดยเฉพาะแหล่งที่อยู่อาศัยที่แออัด ไม่มีสุขอนามัย ส้วมไม่ถูกสุขลักษณะ น้ำดื่มน้ำใช้ไม่สะอาด เป็นต้น
การป้องกันโรคทางเดินอาหารและน้ำ คือ ทานอาหารปรุงสุกและสะอาด เลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ และอาหารที่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังมือหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
เพราะอาการเจ็บป่วยนั้นทรมาน ท้้งเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต เสียค่ารักษา และยังเสี่ยงต่อความรุนแรงของอาการที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้นรู้ให้ทันโรค เพื่อจะได้ป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิด ก่อนจะเจ็บไข้ได้ป่วย ย่อมดีกว่าแน่นอน