ปัจจุบันคนเริ่มหันมาให้ความสนใจในสุขภาพกันมากขึ้น ใส่ใจในเรื่องของอาหารสุขภาพ และการออกกำลังกาย บางคนอาจรักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ หากวันไหนไม่ได้ขยับร่างกาย อาจไม่สดชื่นหรือนอนไม่หลับ ส่วนบางคนออกกำลังกายเพราะอายุที่เริ่มมากขึ้น อยากมีสุขภาพดี กินอิ่มนอนหลับ แทนการนอนป่วยที่โรงพยาบาล แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมเป็นเป้าหมายที่ดี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ การออกกำลังกาย แต่ก็มีคำถามให้ได้ถกกันก่อนจะลงมือทำเสียแล้ว ออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็นดีกว่ากัน ถ้าอย่างนั้นเราไปหาคำตอบพร้อมกันเลยค่ะ
การออกกำลังกายตอนเช้า
การได้ออกกำลังกายตอนเช้า จะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ตื่นตัว มีการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้รูสึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า อารมณ์ดี เป็นการปลุกร่างกายให้เตรียมพร้อมในการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในระหว่างวัน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ มีการดึงไขมันสะสมมาใช้ระหว่างวันได้เยอะขึ้น เหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือผู้ที่ต้องการลดไขมันส่วนเกิน โดยการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอในช่วงเข้า ตั้งแต่ 07.00 – .8.30 น. จะช่วยลดน้ำหนักและไขมันส่วนเกินได้ดีมาก
การออกกำลังตอนเช้าข้อเสียที่ควรระวัง คือ อาการหน้ามืด วิงเวียน คล้ายจะเป็นลม รวมไปถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้ เนื่องจากหลังตื่นนอนในตอนเช้า ร่างกายของเรายังไม่มีพลังงานให้กล้ามเนื้อเพียงพอต่อการเคลื่อนไหวที่หักโหมเกินไป ดังนั้น หากใครที่สะดวกในการออกกำลังกายช่วงเช้าเท่านั้น ควรทานอาหารก่อนออกกำลังกาย 1- 2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ดูดซึมสารอาหารและพลังงานเพื่อส่งไปหล่อเลี้ยงยังอวัยวะต่าง ๆ
การออกกำลังกายตอนเย็น
มีผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ออกกำลังกายตอนเย็นดีที่สุด เพราะร่างกายได้รับพลังงานจากการทานอาหารมาตลอดทั้งวัน ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าช่วงเช้า ทำให้การเผาผลาญดี ไม่รู้สึกเหนื่อยง่าย อีกทั้งการนั่งทำงานหลังแข็งมาแล้วทั้งวันของชาวออฟฟิศทั้งหลาย การได้ออกกำลังกายตอนเย็นจะช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้รู้สีกผ่อนคลาย ลดความเครียดที่สะสมมาทั้งวัน ทำให้อารมณ์ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการนอนดีขึ้นด้วย แล้วออกกำลังกายตอนเย็นเวลาไหนดีที่สุด สามารถออกกำลังในช่วงเย็นได้ตามสะอวด ตั้งแต่ 15.00 – 21.00 น. และยังเหมาะในการเข้าฟิตเนสเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ดี
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างหลังจากออกกำลังกาย เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรีในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ได้สูญเสียพลังงานประมาณ 500 กิโลแคลอรีจากการออกกำลังกาย ร่างกายจึงส่งสัญญาณเตือนว่าจะต้องเติมพลังงานกลับคืน หากเพิกเฉย ปล่อยให้ท้องร้องหรือมีอาการหิวบ่อย ๆ โดยไม่ยอมเติมสารอาหารเข้าไปหลังออกกำลังกาย จะส่งผลให้รู้สึกเพลีย เหนื่อย อ่อนล้า เนื่องจากร่างกายอาจปิดสวิตซ์ตัวเองเข้าสู่โหมดจำศีล เพื่อประหยัดพลังงานที่เหลืออยู่
การออกกำลังกายให้ได้ผลดีต่อสุขภาพ ควรใช้เวลาประมาณ 15 – 30 นาที โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ แต่อาจแบ่งเป็นรอบ ๆ รอบละประมาณ 10 – 15 นาที เช่น หากเดินขึ้น – ลง บันได ก็ให้ได้รอบละ 10 นาที แต่สำหรับใครที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมัน หรือควบคุมน้ำหนัก ควรใช้เวลาในการออกกำลัง 30 นาทีขึ้นไปต่อรอบ ช่วยควบคุมอัตราการเต้นหัวใจในระดับพอดี ไม่สูงหรือต่ำเกินไป หากเป็นผู้มีสุขภาพปกติ ควรใช้ระยะเวลาให้เหมาะสมกับประเภทความหนักของการออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว การวิ่งจ๊อกกิ้ง การปั่นจักรยาน ฯลฯ ซึ่งความหนัก – เบาของกิจกรรมที่ต่างกัน ระยะเวลาที่ใช้ก็แตกต่างด้วยเช่นกัน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรทำการปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำประเภทการออกกำลังกายและระยะเวลาที่เหมาะสม
ที่จริงแล้ว หากจะถามว่าออกกำลังกายช่วงไหนดีที่สุด หรือเวลาไหนเหมาะต่อการออกกำลังกายมากที่สุด ด้วยกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่าง ๆ ในยุคนี้ ก็ต้องขอบอกว่า ช่วงไหนก็ได้ที่สะดวกและร่างกายพร้อม ซึ่งหมายถึงร่างกายไม่เหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลีย และควรห่างจากการรับประทานอาหารประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อรอให้ร่างกายและเอนไซม์ต่าง ๆ ได้ปรับและกลับเข้าสู่โหมดปกติเสียก่อน อีกทั้งไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างก่อนออกกำลังกาย หากสะดวกในการออกกำลังช่วงเช้า อาจหาอาหารเบา ๆ เช่น แคร็กเกอร์รสจืด หรือขนมปังไม่ขัดสี สัก 1 – 2 แผ่น กินรองท้องก่อน เพื่อป้องกันร่างกายขาดพลังงานและน้ำตาล จนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม รู้สึกไม่สดชื่น หรือมีอาการอ่อนเพลีย