ไขข้อสงสัย “โรคฝีดาษลิง” อาการ การแพร่เชื้อ และการรักษา

K

หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้อง I C U เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้เผยข้อมูลมีการพบว่า โอมิครอน BA.5 อยู่ในช่วงขาขึ้น และได้ทำการเตือนเฝ้าระวัง ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และ ฝีดาษลิง จะระบาดในไทย อย่างแน่นอน 

โดยหมอมนูญได้กล่าวถึงการติดตามข้อมูลระบาดวิทยา ว่า เดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา จากข้อมูลของโรงพยาบาลที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่เกิดจากเชื้อประจำถิ่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาร์เอสวี (RSV) และ Human metapneumovirus (hMPV) สำหรับไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นโรคระบาดรุนแรง ไม่มีแนวโน้มลดลงเป็นโรคประจำถิ่น เพราะพบผู้ติดเชื้อทั้งจากการตรวจ ATK และ RT-PCR สูงที่สุดในรอบปี ซึ่งสูงกว่าการระบาดใหญ่ในเดือนมีนาคม โดยพบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยเป็นเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ RSV และ เชื้อไวรัสทางเดินหายใจ hMPV Human metapneumovirus และนอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในประเทศไทยเป็นรายล่าสุดที่ผ่านมานั้น หลังจากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐฯบางคนออกมาแจ้งว่าสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง ในขณะที่ WHO ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณะสุข และอีกหลายประเทศทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง!! 

โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสฝีดาษ หรือโรคไข้ทรพิษ มีอาการของโรคไม่รุนแรง ความเสี่ยงติดเชื้อต่ำ ส่วนใหญ่จะพบได้หลายพื้นที่ของแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก มักจะพบในเด็กเล็กได้มากกว่า ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกต และดูแลบุตหลานอย่างใกล้ชิด

โรคฝีดาษลิงมีความรุนแรงแค่ไหน? จะสามารถแพร่เชื้อได้เหมือนโรคโควิด-19 หรือไม่? และจะสามารถเข้าทำการรักษาตัวได้ที่ไหนบ้าง? เราได้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้มาไว้ให้แล้ว เพื่อจะได้เตรียมรับมือและดูแลตัวเอง

ปัจจุบันพบเชื้อไวรัสฝีดาษ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 

  1. สายพันธุ์ West African clade ไม่มีอาการรุนแรง อัตราป่วยตายน้อยมาก ประมาณ 1% 
  2. สายพันธุ์ Central African clade มีอาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตาย ประมาณ 10% 

อาการของโรคฝีดาษลิง 4 ระยะ 

  1. ระยะฟักตัว  หลังจากที่ได้รับเชื้อ 5-21 วัน จะไม่แสดงอาการ 
  2. ระยะไข้  จะมีอาการปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย โดยอาจจะมีอาการใดอาการหนึ่ง หรืออาการร่วมกันทั้งหมด โดยช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-4 วัน 
  3. ระยะผื่น โดยเริ่มมีผื่นแบน ผื่นนูน ผื่นมีน้ำใส และผื่นมีน้ำขุ่นใต้ผื่น และกลายเป็นผื่นแผลแห้งเป็นขุย ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ 
  4. ระยะฟื้นตัว โดยอาจจะใช้เวลาหลายวัน หรืออาจหลายสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับรายบุคคล 

โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง 

  1. สัตว์สู่มนุษย์ โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งทางเยื่อเมือกหรือผิวหนัง เช่น จมูก ปาก ตา ถูกสัตว์ป่วยกัด โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะทุกชนิด ไม่เพียงแต่ลิงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง สัตว์ตระกูลหนู กระรอก กระต่าย ฯลฯ ก็เป็นพาหะไวรัสได้เช่นกัน และการนำสัตว์ป่วยมาประกอบอาหาร 
  2. มนุษย์สู่มนุษย์ โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง เลือด รอยโรคทางผิวหนังของผู้ป่วย เช่น การนวด การกอด จูบ การมีเพศสัมพันธุ์ การอยู่ใกล้ชิดกันเป็นเวลานานๆ และ ละอองฝอยทางการหายใจ 

ส่วนกรณีการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงจากการนั่งส้วมหรือใช้ห้องน้ำสาธารณะนั้น มีความเป็นไปได้ต่ำ นอกเสียจากกว่า ผู้ป่วยมีตุ่มที่อวัยวะเพศหรือบริเวณที่สัมผัสฝารองนั่งชักโครก แล้วตุ่มแตกหนองเลอะหรือติดที่ชักโครก แล้วผู้ที่เข้าใช้นั่งส้วมต่อจากนั้นเกิดมีแผลตามบริเวณอวัยวะที่สัมผัสกับฝารองนั่งชักโครก หรือสัมผัสกับรอยสารคัดหลั่งของผู้ป่วยก่อนหน้านี้ เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่ร่างกายจากบาดแผล ดังนั้นการแพร่เชื้อจึงยังคงเป็นการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง ไม่ใช่จากปัสสาวะ 

ฝีดาษลิง แพร่เชื้อเหมือนโควิด-19 ได้หรือไม่ 

หลายคนที่กังวลว่าจะมีการระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) แบบโควิด-19 จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ลักษณะการแพร่เชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง จะผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นหลัก แต่ก็ยังมีการแพร่และติดต่อกันได้ในทางระบบทางเดินหายใจ อันมาจากละอองฝอยขนาดใหญ่ แต่ก็ยังมีเพียงส่วนน้อย ซึ่งอย่างไรก็ตามเราก็ยังต้องคอยติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ 

เมื่อติดเชื้อ เข้ารักษาที่ไหนได้บ้าง 

หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเข้าข่ายติดเชื้อฝีดาษลิง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง และทันท่วงทีในการรักษา หากพบว่าติดเชื้อจะได้แยกตัวออกจากผู้อื่น งดการมีเพศสัมพันธุ์ด้วย เพื่อไม่ไปแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ จนกว่าจะตกสะเก็ดหมด และจะได้รับยาจากแพทย์ตามอาการได้อย่างถูกต้อง หรือโทรปรึกษาอาการของโรคฝีดาษลิงที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสามารถเข้ารักษาตัวได้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของตนเอง หรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทุกแห่ง เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิ์ที่รักษาประจำ 


วิธีรักษาโรคฝีดาษลิง 

ขณะนี้ยังไม่มียารักษาโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้หากมีไข้ เป็นต้น และอาจมีการให้ยาต้านไวรัส Cidofovir , Brincidofovir และ Tecoviramet ในบางกรณี  แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสามารถหายได้เอง แต่ก็มีเช่นกันที่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิง โดยกลุ่มเสี่ยงก็คือ เด็กเล็ก 

การป้องกันโรค

  1. ล้างมือบ่อยๆ 
  2. ทานอาหารปรุงสุก โดยเฉพาะอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ หรือมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ 
  3. งดทานอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ป่า
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง และตุ่มหนองของสัตว์ทุชนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าจากพื้นที่เสี่ยง ที่มีรายงานพบสัตว์ป่วย รวมไปถึงการสัมผัสและใกล้ชิดกับผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยมาก่อน 

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรโดยเฉพาะ แต่หลักฐานทางการแพทย์พบว่าวัคซีนไข้ทรพิษ (Smallpox) สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% 

การรับวัคซีนในปัจจุบันจะพิจารณาให้กับผู้เสี่ยงสูงต่อการสัมผัสและติดเชื้อ ซึ่งได้แก่ 

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 
  2. นักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิการด้านไวรัส 
  3. ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องดูแลและใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อ 

ส่วนประชาชนทั่วไปยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับวัคซีนในขณะนี้